ภูมิปัญญา “พลอยจันท์”

สู่.. อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย

ภูมิปัญญา “พลอยจันท์”

สู่.. อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย


: Wisdom of Chanthaburi Gems :
อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับเป็นอุตสาหกรรมที่มีห่วงโซ่คุณค่าเชื่อมโยงตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยมีบทบาทสำคัญทั้งทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม การดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมนี้ต้องอาศัยทั้งทักษะด้านศิลปะ ความรู้ทางเทคนิค และการตลาดเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก

อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ

อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ หมายถึง กระบวนการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ วัตถุดิบธรรมชาติ วัสดุสังเคราะห์ วัสดุทดแทน ที่เกี่ยวข้องกับอัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบจากธรรมชาติและวัสดุสังเคราะห์ การแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า การออกแบบเชิงศิลปะและแฟชั่น การผลิตที่ต้องอาศัยความประณีตและเทคโนโลยีขั้นสูง การตรวจสอบคุณภาพตามมาตรฐานสากล ตลอดจนการตลาดและการจัดจำหน่ายเพื่อส่งต่อผลิตภัณฑ์ไปสู่ผู้บริโภค

อุตสาหกรรมนี้เกี่ยวข้องกับวัตถุดิบหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นอัญมณีจากธรรมชาติ เช่น เพชร ทับทิม ไพลิน มรกต โอปอล ตลอดจน อัญมณีสังเคราะห์ ซึ่งมีคุณสมบัติทางกายภาพและคุณสมบัติทางแสงเหมือนกับอัญมณีธรรมชาติ นอกจากนี้ วัสดุที่ใช้ในการสร้างสรรค์ตัวเรือนยังรวมถึง วัสดุที่ใช้ทำคัวเรือนเครื่องประดับเป็นโลหะมีค่า เช่น ทอง เงิน แพลทินัม และ โลหะผสมของโลหะมีค่าต่าง ๆ ซึ่งล้วนมีบทบาทสำคัญต่อความแข็งแรง ความงาม และมูลค่าของเครื่องประดับแต่ละชิ้น

ด้วยความซับซ้อนของห่วงโซ่อุปทาน อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับจึงสามารถแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่

1. อุตสาหกรรมต้นน้ำ (Upstream Industry)

เกี่ยวข้องกับการสำรวจและขุดหาอัญมณี การทำเหมืองแร่ รวมถึงการนำเข้าวัตถุดิบจากแหล่งต่าง ๆ ทั่วโลก ได้แก่

  • การสำรวจและทำเหมืองอัญมณีธรรมชาติ
  • การสกัดและคัดเลือกวัตถุดิบอัญมณี
  • การนำเข้าและส่งออกอัญมณีดิบ

2. อุตสาหกรรมกลางน้ำ (Midstream Industry)

กระบวนการแปรรูป การเจียระไน การเพิ่มคุณภาพ การออกแบบและผลิตตัวเรือน รวมถึงควบคุมคุณภาพมาตรฐาน ได้แก่

  • การเจียระไนอัญมณีเพื่อเพิ่มมูลค่า
  • การออกแบบและผลิตตัวเรือน
  • การตรวจสอบคุณภาพและการรับรองมาตรฐาน

3. อุตสาหกรรมปลายน้ำ (Downstream Industry)

ปัจจัยด้านการตลาด การสร้างแบรนด์ การจำหน่ายผ่านช่องทางค้าปลีกและออนไลน์ ตลอดจนบริการหลังการขาย ได้แก่

  • การตลาดและการสร้างแบรนด์
  • การจัดจำหน่ายผ่านร้านค้าและช่องทางออนไลน์
  • การให้บริการหลังการขาย เช่น การซ่อมแซมและทำความสะอาด


ลักษณะสำคัญของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ

อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับเป็นอุตสาหกรรมที่มีห่วงโซ่คุณค่าเชื่อมโยงตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยมีบทบาทสำคัญทั้งทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม การดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมนี้ต้องอาศัยทั้งทักษะด้านศิลปะ ความรู้ทางเทคนิค และการตลาดเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก

  • เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้ฝีมือสูง อาศัยทักษะและความประณีตในการเจียระไนและออกแบบ
  • มีการแข่งขันทางธุรกิจสูง ทั้งระดับโลกและท้องถิ่น ที่แข่งขันกันในด้านคุณภาพและนวัตกรรม
  • ทรงคุณค่าทางศิลปะและวัฒนธรรม ลวดลายและการออกแบบ
  • เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงและแสดงถึงฐานะและรสนิยมของผู้สวมใส่ หรูหรา เสริมบุคลิกภาพและสถานะทางสังคม


บทบาทของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับในเศรษฐกิจ

  • สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบผ่านการแปรรูปและออกแบบ
  • ส่งเสริมการจ้างงาน โดยเฉพาะในภาคการผลิตและงานฝีมือ
  • เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมส่งออกที่สำคัญของหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย

อุตสาหกรรมนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่การผลิตสินค้า แต่ยังสะท้อนถึง ศิลปะ วัฒนธรรม และเอกลักษณ์ของแต่ละประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง สามารถสร้างรายได้จากการส่งออก สร้างงานให้กับช่างฝีมือ และกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศที่เป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณี ด้วยความงดงามอันเป็นเอกลักษณ์ อัญมณีและเครื่องประดับจึงไม่ได้เป็นเพียงแค่เครื่องตกแต่ง แต่ยังเป็นสัญลักษณ์แห่งสถานะ คุณค่า และความหมายที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น


ฐานข้อมูล : อุตสาหกรรมต้นน้ำ

การทำเหมือง

แร่รัตนชาติมีกระจายอยู่ในแหล่งธรรมชาติอย่างหลากหลาย การที่จะนำขึ้นมาเพื่อทำการเจียระไนเป็นอัญมณีที่มีประกายระยิบระยับนั้นจึงต้องทำการขุดค้นหา “การทำเหมืองพลอย” ต้องการสำรวจและประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจ จึงวางแผนการทำเหมือง จังหวัดจันทบุรีมีการทำเหมืองมาตั้งแต่ครั้งอดีตด้วยวิธีการขุดบริเวณลำธารเพื่อร่อนหาพลอยโดยชาวบ้าน จึงขยายผลสู่การทำเหมืองพลอย วิธีการทำเหมืองพลอยได้ 3 ประเภท ได้แก่ การทำเหมืองพลอยแบบขุดบ่อพลอย การทำเหมืองสูบ และการทำเหมืองหาบโดยใช้เครื่องจักรหนัก โดยในจันทบุรีมีการทำเหมืองพลอย 2 ประเภท คือ การทำเหมืองพลอยแบบสูบ (Gemstone Gravel pumping) ในบริเวณเขาพลอยแหวนซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของจันทบุรี และการทำเหมืองพลอยแบบเหมืองหาบ (Open pit mining)


: วีดิทัศน์ :
: เอกสารเผยแพร่ความรู้ :

ฐานข้อมูล : อุตสาหกรรมกลางน้ำ

การเผาพลอย

การเผาพลอยหรือการหุงพลอย คือการนำพลอยดิบ (Unheated Gems) คือก้อนพลอยที่ขุดขึ้นมาจากแหล่งธรรมชาติ มาทำให้มีคุณภาพที่ดีขึ้นหรือสวยงามขึ้น เพราะพลอยดิบที่เนื้อพลอยมีความใสสะอาดบริสุทธิ์ สีสันสวยงามนั้นมีจำนวนน้อย หายากมาก และราคาสูง จึงเกิดภูมิปัญญาการนำก้อนพลอยดิบมาผ่านการเผาด้วยความร้อนเพื่อปรับปรุงคุณภาพของพลอยก่อนนำไปเจียระไน นิยมทำกับพลอยเนื้อแข็ง (ชนิดคอรันดัม ได้แก่ ไพลิน ทับทิม บุษราคัม เป็นต้น) และในพลอยเนื้ออ่อนบางชนิด การเผาพลอยจึงเป็นภูมิปัญญาที่ตลาดให้การยอมรับว่าสามารถใช้เพิ่มมูลค่าแก่อัญมณีได้

: บทความวิชาการและงานวิจัย :
: วีดิทัศน์ :

ฐานข้อมูล : อุตสาหกรรมกลางน้ำ

การเจียระไนพลอย

การเจียระไนพลอยเป็นหนึ่งในขั้นตอนที่สำคัญของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ที่จะทำให้พลอยสามารถเพิ่มมูลค่าขึ้นมาได้ โดยการเจียระไนนั้นต้องใช้ช่างฝีมือที่มีทักษะและความชำนาญ จากการสั่งสมประสบการณ์มาอย่างสูง ต้องใช้ความละเอียดรอบคอบและความประณีตเป็นอย่างมากในการทำงาน เพื่อให้สามารถรักษาน้ำหนักของอัญมณีไว้ได้มากที่สุด ในขณะเดียวกันจะต้องเลือกด้านอัญมณีที่จะแสดงสีสันและสะท้อนประกายของอัญมณีได้ดีที่สุด เพื่อให้ความงดงามปรากฏที่หน้าพลอย หรือที่เราได้ยินคำว่า “ไฟดี” พลอยที่เจียระไนให้ได้เหลี่ยมและได้สัดส่วนที่เหมาะสมกับการสะท้อนแสง ที่เหมาะสมกับชนิดของพลอย จึงจะสามารถทำให้อัญมณีส่องแสงประกายระยิบระยับสวยงาม ดังนั้นกระบวนการเจียระไนจึงเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้อัญมณีแต่ละเม็ดเกิดความสวยงามแตกต่างกัน กระบวนการและขั้นตอนการเจียระไนจึงเป็นหนึ่งในภูมิปัญญาทางศิลปวัฒนธรรมของไทยที่ควรค่าแก่การสืบสานและอนุรักษ์ให้คงอยู่ต่อไป

: บทความวิชาการและงานวิจัย :
: วีดิทัศน์ :

ฐานข้อมูล : อุตสาหกรรมปลายน้ำ

การขายและการทำธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ

อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับเป็นอุตสาหกรรมศักยภาพของประเทศไทย เป็นอุตสาหกรรมที่ทำรายได้อันดับต้นของไทยมาโดยตลอด ก่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ส่งผลให้ไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับใน 10 อันดับแรกของโลก ผู้ประกอบการจึงความหลากหลายตั้งแต่ธุรกิจต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทย


: วีดิทัศน์ :
: เอกสารเผยแพร่ความรู้ :

จัดทำโดย :

คณะอัญมณี มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี

: 57 หมู่ 1 ถนนชลประทาน ตำบลโขมง อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี 22170
: (039) 310000
: gemsbuu@go.buu.ac.th